ปัจจุบัน GLP-1 เป็นฮอร์โมนที่ทางการแพทย์นำมาใช้เพื่อต้านเบาหวาน และรักษาโรคอ้วน ที่มีความปลอดภัย ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฮอร์โมนตัวนี้ ว่ามีกลไกออกฤทธิ์อย่างไรกับร่างกายของเรา
GLP-1 คืออะไร?
GLP-1 มีชื่อเต็มว่า Glucagon Like Peptide-1 เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งในระบบทางเดินอาหารของเรา (มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ) มีฤทธิ์ในการส่งสัญญาณไปที่สมองของเรา ทำให้เรารู้สึกอิ่ม เพิ่มประสิทธิภาพในการกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และปรับระดับน้ำตาลในเลือด
ในทางการแพทย์ได้มีการนำ Liraglutide เป็นสารออกฤทธิ์ที่มีลักษณะคล้ายกับกัน เป็นยาที่ได้รับการอนุมัติโดย Thai FDA (ในปี 2018 ที่ผ่านมา) มาใช้ในการลดน้ำหนัก
GLP-1 ตามธรรมชาติ
ปกติแล้ว GLP-1 ที่หลั่งออกมาหลังจากที่เราทานอาหาร จะออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายได้ไม่นาน (ไม่กี่นาที) และมีประมาณ 10-15% ที่ผ่านออกมาสู่กระแสเลือดเพื่อทำหน้าที่ตามอวัยวะต่าง ๆ
GLP-1 มีกลไกออกฤทธิ์อย่างไร?
- สมองส่วนควบคุมความหิว ทำให้เรารู้สึก อิ่ม (Hunger & Satiety center) ช่วยลดความอยากอาหาร
- ตับอ่อน ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อมีน้ำตาลกลูโคสเข้ามาสู่ร่างกาย (Glucose dependence) ลดการหลั่งฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) จากตับอ่อนที่จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
- กระเพาะอาหาร ลดการเคลื่อนไหว และการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร จึงทำให้อาหารอยู่ท้องนานขึ้น รู้สึกอิ่มนาน ส่งผลให้ทานอาหารน้อยลง
- อวัยวะอื่นๆ เช่น กล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ไขมัน ช่วยในการดึงเอาน้ำตาลกลูโคสเข้าไปใช้ได้มากขึ้น มีผลช่วยป้องกันอวัยวะสำคัญอย่างไต ปอด และหัวใจ (Protective effects) และที่ตับ ยังช่วยลดการสร้างน้ำตาลจากตับได้อีกด้วย
การใช้ GLP-1 ในการลดน้ำหนัก
ปัจจุบันนี้เรามียาที่ชื่อว่า Liraglutide เป็นยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน GLP-1 แต่มีโครงสร้างต่างกันเล็กน้อย ทำให้ไม่ถูกเอนไซม์ย่อยสลายในร่างกายเร็ว
โดยสามารถออกฤทธิ์ได้นานกว่า และอยู่ได้ถึง 12 ชม. จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ไม่ค่อยหิว ลดการผลิตน้ำตาลในเลือด เพิ่มความไวของอินซูลินที่ตับอ่อนและกล้ามเนื้อ รวมถึงลดการเคลื่อนที่ของกระเพาะอาหารทำให้อาหารอยู่ท้องนานขึ้นนั่นเอง
ข้อควรระวัง การใช้ยากลุ่ม GLP-1
- ดื่มน้ำระหว่างวันให้มาก ๆ
- ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ห้ามปรับปริมาณยาเอง
- อาจมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงแรกอาจต้องใช้เวลาปรับตัว หากรู้สึกว่าอาการรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อปรับปริมาณยา
- ไม่ควรใช้ในหญิงที่วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งไทรอยด์ชนิดเมดัลลารี (Medullary) มะเร็งตับอ่อน ตับอ่อนอักเสบ
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่มีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ลดน้ำหนักด้วย GLP-1 ต่างจากออกกำลังกาย คุมอาหารอย่างไร?
- มีงานวิจัยที่ทำในกลุ่มคนจำนวน 2,487 คน ใช้ GLP-1 ร่วมกับการ คุมอาหาร และออกกำลังกาย
- เทียบกับ กลุ่ม 1,244 คน ที่คุมอาหาร และออกกำลังกาย เพียงอย่างเดียว
ในช่วงเวลาประมาณ 1 ปี พบว่า กลุ่มที่ใช้ GLP-1 น้ำหนักลดลงเฉลี่ยถึง 9.2% หรือเฉลี่ย 10 กก. มีรอบเอวลดลงกว่า 8 ซม. เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ น้ำหนักลดลงเพียง 3.5%
คุมอาหาร คือ ปัจจัยสำคัญที่สุด
การออกกำลังกาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดีต่อระบบฮอร์โมน ช่วยในการรักษารูปร่าง แต่ในการลดน้ำหนัก หากไม่สามารถคุมปริมาณอาหารที่เหมาะสมได้ น้ำหนักจะไม่ลดลง หรือลดลงแค่เพียงชั่วคราว
สรุปการลดน้ำหนัก ร่วมกับ GLP-1
- ห้ามอดอาหาร ระหว่างการใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลตก คลื่นไส้อาเจียนได้
- หากคุณเป็นคนที่ออกกำลังกาย มาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องอยู่แล้ว ให้ออกกำลังต่อไปได้ตามปกติ
- หากไม่ได้ออกกำลังกาย ให้พยายามเพิ่มกิจกรรมในแต่ละวัน ที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย
- ลดปริมาณการทาน แป้ง และน้ำตาล ให้น้อยที่สุด เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์
- เพิ่มการทานอาหารที่มี กากไย (Fiber) เช่น ธัญพืช ผักผลไม้ ถั่ว
- มีงานวิจัยพบว่า การนอนหลับให้เพียงพอ ช่วยให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะการอดนอนจะเพิ่มฮอร์โมนความเครียด ซึ่งส่งผลเสียต่อการลดน้ำหนักโดยตรง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ช่วยให้ระบบการหมุนเวียนในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ
ปัจจุบันภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน มีหลากหลายวิธีที่สามารถรักษาได้ ซึ่งต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ร่วมกับเทคนิคทางการแพทย์ จะช่วยให้คนไข้ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก ซึ่งนอกจากช่วยในเรื่องความมั่นใจในตัวเองแล้ว ยังเป็นประตูไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้นในทุกด้านระยะยาว