ยากินรักษาสิว มักใช้ในผู้ที่มีสิวระดับปานปลางถึงรุนแรง จากการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือควบคุมระดับดารเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิว ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ การใช้ยาต้องอยู่ในปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสม ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้นค่ะ
ยากินรักษาสิว จำเป็นหรือไม่?
สิวสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ในกรณีที่เป็นสิวเรื้อรัง หรือสิวฮอร์โมนระดับที่รุนแรง การรักษาทั่วไป หรือการทายาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้ยากินรักษาสิวร่วมด้วย แต่การใช้ยา ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดค่ะ
ทั้งนี้ในกรณีที่คนไข้ไม่ได้เป็นสิวที่รุนแรง หรือมีการตอบสนองต่อการรักษาได้ดี เช่น การทำเลเซอร์รักษาสิว , การทายา หรือการทำทรีตเมนต์ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องทานยารักษาสิวเสมอไปค่ะ
ชนิดของยากินรักษาสิว
ยารับประทานเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาสิว โดยประเภทของยาที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ (Oral Antibiotics)
- ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Retinoic acid)
- กลุ่มยาฮอร์โมน (ยาคุมกำเนิด และ ยาขับปัสสาวะกลุ่ม spironolactone)
- อื่นๆ เช่น Zinc อาจช่วยลดการอักเสบ
1.ยาปฏิชีวนะ (Oral Antibiotics)
มักใช้ในการรักษา และบรรเทาอาการสิวอักเสบปานกลาง ถึงรุนแรง เช่น Tetracycline, Doxycycline, Minocycline โดยออกฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว เช่น เชื้อ C.acnes ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่าเชื้อ C. acnes ดื้อต่อยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานมากขึ้น ดังนั้น ควรใช้ยาทางการแพทย์ชนิดอื่น ร่วมกับยารับประทาน หรือยาทาเพื่อลดการดื้อต่อสิวค่ะ
2.ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Retinoic acid)
ยากลุ่มนี้มีชื่อว่า ไอโซเตรติโนอิน หรือชื่อทางการค้าเช่น Acnotin เป็นยารับประทานที่มักจะจ่ายให้เฉพาะผู้ที่เป็นสิวรุนแรงเท่านั้น ยาจะออกฤทธิ์โดยตรงต่อต่อมไขมัน ลดการผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิว จึงช่วยลดการอักเสบ ลดการอุดตันของรูขุมขน และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (สิวอุดตัน)
เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาชนิดนี้ เมื่อคนไข้ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ แล้วเท่านั้นค่ะ
3.กลุ่มยาฮอร์โมน และยาขับปัสสาวะ
ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย มักใช้กรณีรักษาสิวที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงที่มีปัญหาสิวขึ้นในช่วงรอบเดือน มักมีสิวขึ้นบริเวณกราม รอบปาก เป็นต้น
ผู้ที่มีประวัติ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งเต้านม โรคตับและโรคเลือดแข็งตัวง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด
การใช้ยากินแต่ละชนิดต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากคนไข้แต่ละคนมีสาเหตุของสิว และการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน รวมถึงคนไข้ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง ไม่หยุดยาเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อป้องกันการดื้อยาในอนาคตค่ะ
การรักษาสิว ไม่แนะนำให้ใช้ยากินเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้การรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย จึงจะเห็นผลการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
ข้อควรระวังของการใช้ยา Acnotin
เนื่องจาก Acnotin เป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง จึงต้องอยู่ในการสั่งจ่ายโดยแพทย์ และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ คนไข้ควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง ห้ามซื้อกินด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acnotin
- ทำให้ผิวหนังแห้ง หลุดลอก ไวต่อแสง ตาแห้ง ปาก-คอแห้ง (พบได้บ่อย)
- มีความ เป็นพิษต่อตับ (hepatotoxicity) หากต้องใช้ในระยะยาว ผู้ใช้ยาควรเข้ารับการตรวจ ค่าการทำงานของตับอยู่เสมอ
- ทำให้เกิด ภาวะไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia) ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือดอยู่เสมอ
- หากรับประทานต่อเนื่องเกิน 6 เดือน อาจทำให้ความหนาแน่นกระดูกลดลง
- อาจมีภาวะกระดูกพรุน ปวดกล้ามเนื้อ
- อาจมีภาวะซึมเศร้า มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว มีความคิดในการฆ่าตัวตาย (พบได้แต่น้อยมาก)
- ห้ามใช้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ เพราะทำให้เด็กทารกในครรภ์พิการแต่กำเนิดได้ มีความเสี่ยงสูงที่จะพบความบกพร่องทางสมอง และเชาว์ปัญญา
ผู้ที่ได้รับยา Acnotin จะต้องคุมกำเนิดก่อนรับประทานยาอย่างน้อย 3 เดือน และคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาที่ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา ที่สำคัญต้อง หยุดยาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 1 ปี ก่อนจึงจะตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย
อ้างอิง ภัยร้ายของการซื้อยากินรักษาสิวเอง โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
การดูแลตัวเองเมื่อใช้ยากินรักษาสิว
- ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง เลือกยาที่เหมาะสม และประเมินความเสี่ยงของผลข้างเคียง
- แจ้งประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว และยาอื่นๆ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา
- รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง ห้ามหยุดยาเอง แม้ว่าอาการจะดีขึ้น
- สังเกตอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ผื่น หากมีอาการรุนแรงให้รีบพบแพทย์
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสัมผัสแสงแดด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา
- ดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาความสะอาดผิวหน้า เพื่อช่วยให้การรักษาสิวมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปคำแนะนำการใช้ยากินรักษาสิว
การใช้ยากินรักษาสิว ควรใช้ควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไปพร้อมกัน จึงจะช่วยควบคุมให้อาการของสิวดีขึ้นได้ และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพื่อเลือกยาให้เหมาะสมกับปัญหาแต่ละบุคคล และต้องมีการติดตามผลข้างเคียงกับแพทย์อย่างใกล้ชิด
การรักษาสิวควรมุ่งเน้นไปที่ต้นเหตุ ลดการกดสิว ฉีดสิวให้น้อยที่สุด พร้อมปรับการดูแลผิวให้เหมาะสมกับตนเอง เพื่อช่วยให้ผิวสุขภาพดี เมื่อโครงสร้างผิวแข็งแรง พร้อมกับการรักษาปัจจัยที่ทำให้เกิดสิว ปัญหาสิวจะดีขึ้นได้ในระยะยาวอย่างปลอดภัยค่ะ
บทความอ้างอิงที่เกี่ยวการใช้ยากินรักษาสิว
ยารักษาสิว โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
บทความครบวงจรเรื่องสิว โดย โรงพยาบาลสมิติเวช
Four Types of Oral Medications Acne โดย Ensoul Clinic