โรคอ้วน ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำหนักเกิน แต่เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ นำไปสู่โรคร้ายแรงมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โรคอ้วนลงพุง” ซึ่งอันตรายกว่าที่คิด วันนี้เรามาทำความรู้จักระดับของน้ำหนักตัว และสัญญาณเตือน ที่ควรต้องรีบรักษาค่ะ
โรคอ้วน คืออะไร?
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ไม่ใช่เพียงเรื่องของน้ำหนักที่เกิน แต่จริงๆ เกี่ยวข้องกับปริมาณไขมันในร่างกาย บางคนแม้มีน้ำหนักตัวปกติ แต่มีไขมันสะสมเยอะ ก็นับเป็นโรคอ้วนได้เช่นกันค่ะ
วิธีสังเกตความเสี่ยงเบื้องต้น คือ ดูจากภาวะอ้วนลงพุง หรือมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป โดยวัดจาก เส้นรอบเอว ผู้ชายไม่ควรเกิน 90 ซม. ผู้หญิงไม่ควรเกิน 80 ซม.
สาเหตุการเกิดโรคอ้วน
-
จากปัจจัยภายนอก
มักเกิดจากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น แป้ง ไขมัน ของหวาน การทานจุบจิบไม่เป็นเวลา และมีการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อย ขาดการออกกำลังกาย สะสมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
-
จากปัจจัยภายใน
โรคอ้วนสามารถเกิดได้จากกรรมพันธ์แต่กำเนิด ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ภาวะความเครียดสูง จิตใจ อารมณ์ การรับประทานยาบางชนิด รวมถึงช่วงวัยที่เพิ่มขึ้น จะทำให้การเผาผลาญของร่างกายลดลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
การแบ่งระดับของโรคอ้วน (สำหรับคนเอเชีย)
การประเมินระดับโรคอ้วน นิยมใช้ “ดัชนีมวลกาย” หรือ BMI เป็นเกณฑ์ คำนวณง่ายๆ จากน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง สำหรับคนเอเชีย จะแบ่งเป็น 3 ระดับหลักๆ ดังนี้
-
ภาวะน้ำหนักเกิน (BMI 23-24.9)
ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ Pre-Obesity คือการที่เริ่มมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ยังไม่ถือเป็นภาวะโรคอ้วน แต่ควรเริ่มปรับพฤติกรรม เลือกทานอาหารที่ช่วยลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าสู่ภาวะโรคอ้วน
-
โรคอ้วนระดับที่ 1 (BMI 25-29.9)
ภาวะโรคอ้วนเบื้องต้น มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง
-
โรคอ้วนระดับที่ 2 (BMI 30 ขึ้นไป)
เป็นภาวะโรคอ้วนที่ควรรับการรักษา เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ สูง เช่น โรคทางเดินหายใจ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงภาวะที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น ปัญหาข้อกระดูก ภาวะเครียด และภาวะซึมเศร้า
ในคนยุโรปภาวะโรคอ้วนจะเริ่มนับที่ค่า BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เนื่องจากมีโครงสร้างร่างกายที่ใหญ่กว่าคนเอเชียค่ะ
ขอบคุณข้อมูล BMI ภาวะโรคอ้วนจาก ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรอกข้อมูลเพื่อหาค่า BMI ของคุณ
ใส่ส่วนสูง (cm) และ น้ำหนัก (kg) ได้ในช่องด้านล่าง และกด Submit ได้เลยค่ะ
ค่า BMI เป็นเพียงตัวบ่งชี้เบื้องต้น ไม่ควรยึดติดกับตัวเลขมากเกินไป โดยเฉพาะคนที่ออกกำลังกาย จะมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าคนทั่วไป ในขณะที่ไขมันน้อย แต่เนื่องจากกล้ามเนื้อมีความหนาแน่นมากกว่าไขมัน ทำให้มีน้ำหนักตัวมาก ส่งผลให้ค่า BMI สูง จึงอาจถูกจัดว่า “อ้วน” หรือ “น้ำหนักเกิน” ทั้งที่จริงๆ แล้วมีสุขภาพแข็งแรงดีค่ะ
นอกจากนี้ ค่า BMI ยังไม่ได้บอกถึงการมีไขมันสะสมในช่องท้อง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าไขมันที่สะสมตามส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
โรคอ้วนระดับไหนควรพบแพทย์
การรักษาโรคอ้วน สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นไม่มาก หรือมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ เราจะเรียกว่า Pre-Obesity คือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดโรค ซึ่งเป็นช่วงที่รักษาได้ง่ายที่สุดค่ะ
หากมีภาวะโรคอ้วนในระดับที่ 1 หรือ 2 แล้ว แนะนำให้พบแพทย์ คลินิกลดน้ำหนัก หรือนักโภชนาการ เพื่อวางแผนการรักษา เนื่องจากจำเป็นต้องมีการปรับพฤติกรรมการกิน และการใ้ชชีวิตประจำวันร่วมด้วย โดยอาจใช้เวลาตั้งแต่ 3-6 เดือน จึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนค่ะ
ผลเสียของโรคอ้วนต่อสุขภาพ
ภาวะโรคอ้วน ส่งผลให้มีการสะสมของไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat) ซึ่งจะเป็นการรบกวนการทำงานของระบบอวัยวะภายในของร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้จำนวนมาก
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2
- โรคความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดผิดปกติ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- โรคไขมันพอกตับ
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลดน้ำหนัก
- ไม่ควรอดอาหาร การอดอาหารเป็นวิธีที่อันตราย ส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร ระบบเผาผลาญทำงานผิดปกติ นำไปสู่การเกิด ภาวะน้ำหนักตัวเด้งขึ้นหลังลดน้ำหนัก (Yoyo-Effects)
- การซื้อยาลดความอ้วนมาใช้เอง ยาลดความอ้วน ส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียง เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง บางชนิดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้นค่ะ
- ออกกำลังกายหักโหม หรือหนักเกินไป การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมาก่อน การหักโหมจะเป็นผลเสีย เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้บาดเจ็บ หรือเสียมวลกล้ามเนื้อ ลดการเผาผลาญลงในระยะยาวได้ค่ะ
- ห้ามอดนอน การนอนไม่พอส่งผลต่อระบบเผาผลาญ ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหาร และลดฮอร์โมนที่ควบคุมความอิ่ม เพิ่มโอกาสในการกินจุ น้ำหนักขึ้นได้ง่าย
- ไม่ควรเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่ละคนมีรูปร่าง สรีระ และอัตราการเผาผลาญที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น อาจทำให้เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจ ควรโฟกัสที่เป้าหมายของตัวเองจะดีที่สุดค่ะ
สรุปคำแนะนำการดูแลภาวะโรคอ้วน
การดูแลรูปร่างที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ควบคุมปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละวันให้เหมาะสม และทานอาหารให้หลากหลาย เพิ่มการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ อาจหากิจกรรมเช่นการเล่นกีฬาที่เหมาะสมต่อสภาพร่างกายของเราค่ะ
หากการลดน้ำหนักด้วยตัวเองแล้วไม่ได้ผล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือคลินิกลดน้ำหนัก เพื่อใช้ยา หรือเครื่องมืออื่นๆ ในการรักษา จะช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ไว และง่ายกว่าการลดน้ำหนักด้วยตัวเองค่ะ
บทความอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับภาวะโรคอ้วน
ภาวะอ้วนลงพุง ทานอย่างไรให้สุขภาพดี โดย SiPH โรงพยาบาลศิริราช
แนวทางการจัดการโรคอ้วน (Management of Obesity) โดย Wongkarnpat
โรคอ้วน (Obesity) ภาวะน้ำหนักเกิน โดย Medpark Hospital